List of content

Commodity คืออะไร มือใหม่เริ่มต้นเทรดยังไงดี?


Commodity คืออะไร มือใหม่เริ่มต้นเทรดยังไงดี?

Commodity คืออะไร? หรือที่ผู้คนจะรู้จักอีกชื่อคือ สินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่นักลงทุนส่วนมากใช้ในการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ทองคำ แร่เงิน ฯลฯ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วในโลกการลงทุนนั้นให้คุณค่ากับสินค้าโภคภัณฑ์ว่าเป็น "เครื่องมือป้องกันเงินเฟ้อ" ซึ่งการกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปสินค้าโภคภัณฑ์นั้นค่อนข้างดูดีเลย 

โดยสินค้าโภคภัณฑ์เป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นสินค้าพื้นฐานที่ใช้ในทางการค้า ซึ่งสามารถใช้ทดแทนกันได้กับสินค้าประเภทเดียวกันอื่น ๆ สำหรับนักลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์อาจเป็นสิ่งสำคัญในการกระจายพอร์ตการลงทุนให้มากกว่าหลักทรัพย์ทั่วไป เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวตรงกันข้ามกับหุ้น นักลงทุนบางรายจึงเทรดสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงที่ตลาดเกิดความผันผวน โดยบทความนี้จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ซึ่งมีความหมายดังนี้

 

Commodity คืออะไร ?

Commodity หรือ สินค้าโภคภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบที่ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของการผลิตสินค้าหรือบริการต่าง ๆ มีลักษณะจับต้องได้ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย สินค้าโภคภัณฑ์ยังสามารถซื้อขายและใช้แทนกันได้อย่างสมบูรณ์ (Fungibility) โดยส่วนมากเทรดเดอร์นั้นจะมีความสนใจในการเทรดและลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์เนื่องจากเป็นที่นิยมและมีสภาพคล่องมาก

Commodity คืออะไร?

 

ประเภทของสินค้าโภคภัณฑ์

การแบ่งประเภทของสินค้าโภคภัณฑ์สามารถแบ่งตามลักษณะการเกิดและแหล่งที่มาได้เป็น 2 ประเภท

1. Soft Commodity

Soft Commodity คือ ผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่สามารถได้มาโดยการเพาะปลูกหรือใช้กระบวนทางการเกษตร เป็นสินค้าที่สามารถเกิดจากการควบคุมดูแลของมนุษย์ เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง เนื้อหมู น้ำตาล เป็นต้น

2. Hard Commodity 

Hard Commodity คือ ผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่ไม่สามารถผลิตได้โดยการเพาะปลูกหรือใช้กระบวนทางการเกษตร มนุษย์ไม่สามารถผลิตเองได้ การจะได้วัตถุดิบเหล่านี้มา จึงต้องใช้วิธีการสกัดหรือผ่านการขุดเจาะ เช่น แร่ธาตุ ทองคำ น้ำมัน เป็นต้น

 

ประเภทของสินค้าโภคภัณฑ์

 

กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) มีอะไรบ้าง?

กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ยังมีการแบ่งกลุ่มทั่วไปเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

1. สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงาน (Energy)

สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มสินค้าด้านพลังงาน ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

2. สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มโลหะอุตสาหกรรม (Industrial Metals)

สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มสินค้าโลหะอุตสาหกรรม ได้แก่ อะลูมิเนียม ตะกั่ว ทองแดง เป็นต้น

3. สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มโลหะมีค่า (Precious Metals)

สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มโลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ เงิน เป็นต้น

4. สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มการเกษตร (Agricultural)

สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มสินค้าเกษตร ได้แก่ กาแฟ น้ำตาล ข้าวโพด ถั่วเหลือง เป็นต้น

5. สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มปศุสัตว์ (Livestock)

สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มปศุสัตว์ ได้แก่ Feeder Cattle, Live Cattle, Lean Hogs เป็นต้น โดยแต่ละประเภทของสินค้าปศุสัตว์ (Livestock) มีดังนี้

  • Feeder Cattle คือ การปศุสัตว์เพื่อส่งขายให้ผู้อื่นเลี้ยงต่อ

  • Live Cattle คือ การปศุสัตว์เพื่อให้ได้น้ำหนักที่ต้องการ
  • Lean Hogs คือ สัตว์เลี้ยงที่มีน้ำหนักถึงแล้ว สามารถนำไปขายต่อหรือแปรรูป

 

5 ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคา Commodity

Commodity หรือสินค้าโภคภัณฑ์นั้นราคาผันผวนค่อนข้างมาก โดยปัจจัยที่มีผลเกี่ยวข้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ มี 5 ปัจจัยดังนี้

1. อุปสงค์และอุปทาน

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการแรกที่ส่งผลต่อราคา Commodity คืออุปสงค์และอุปทาน หากอุปสงค์สำหรับสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งเพิ่มขึ้นในขณะที่อุปทานคงที่ ราคามักจะเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน หากอุปทานเพิ่มขึ้นในขณะที่อุปสงค์คงที่ ราคามักจะลดลง

อุปสงค์ (Demand) คืออะไร?

อุปสงค์ (Demand) คือ ความต้องการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค โดยจะสอดคล้องกับราคาสินค้าและบริการ ตัวอย่างเช่น อุปสงค์เยอะ ความต้องการของผู้บริโภคเยอะ ยิ่งราคาสินค้าและบริการลดลงยิ่งส่งผลให้อุปสงค์นั้นเพิ่มมากขึ้น

อุปทาน (Supply) คืออะไร?

อุปทาน (Supply) คือ ความต้องการขายสินค้าและบริการของผู้ผลิต โดยจะสอดคล้องกับราคาสินค้าและบริการ ตัวอย่างเช่น อุปทานเยอะความต้องการของผู้ผลิตสินค้าและบริการเยอะ ยิ่งราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นยิ่งส่งผลให้อุปทานนั้นเพิ่มมากขึ้น

2. การเก็งกำไร

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาของ Commodity เหล่านี้คือ การเก็งกำไร ผู้เก็งกำไร คือ นักลงทุนที่ซื้อและขายสินค้าโภคภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายในการทำกำไรตามการเคลื่อนไหวของราคาที่คาดหวัง 

3. สภาพอากาศ

สภาพอากาศอาจมีผลกระทบอย่างมากเช่นกัน ภัยแล้ง น้ำท่วม และภัยธรรมชาติอื่น ๆ สามารถขัดขวางการผลิตทางการเกษตร ทำให้ราคาพืชผล เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลืองสูงขึ้น ในทำนองเดียวกัน พายุเฮอริเคนและเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงอื่น ๆ สามารถขัดขวางการผลิตและการขนส่งน้ำมัน ทำให้ราคาสูงขึ้น

4. เหตุการณ์ทางการเมือง

เหตุการณ์ทางการเมืองอาจส่งผลกระทบต่อราคา Commodity ตัวอย่างเช่น ความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สามารถขัดขวางการผลิตน้ำมันและทำให้ราคาสูงขึ้น ข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศคู่ค้าอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสินค้า โดยทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักและทำให้อุปสงค์ลดลง

5. เงินเฟ้อ

การเกิดเงินเฟ้อส่งผลทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์และปัจจัยอีกหลายด้าน ทั้งในเรื่องของราคา มูลค่าของเงิน อุปสงค์และอุปทาน อัตราดอกเบี้ย และการเก็งกำไร เพราะถ้าเกิดเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้นย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์นั้นสูงขึ้น

 

ลงทุน Commodity ได้อย่างไร?

การลงทุน Commodity หรือสินค้าโภคภัณฑ์นั้นมีหลากหลายช่องทาง หลังจากที่ผู้อ่านได้ทราบถึงความหมาย ประเภทสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์แล้ว การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ยังสามารถลงทุนได้หลากหลายช่องทาง ดังนี้

1. ลงทุน Commodity โดยตรง

การลงทุน Commodity หรือสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรงนั้น เช่น การที่ไปซื้อทองคำที่ห้างทองแล้วนำไปเก็งกำไร หรือการปลูกยางพาราและมีการขายเอง โดยการลงทุนโดยตรงจะมีข้อดี คือ มีสินค้าโภคภัณฑ์เป็นของตัวเองจริง ๆ แต่มีข้อเสียในเรื่องของการเก็บรักษา การขนส่ง และการเสื่อมสภาพของสินค้า

2. ลงทุน Commodity ทางอ้อม

การลงทุน Commodity หรือสินค้าโภคภัณฑ์ทางอ้อมนั้นจะสามารถลงทุนโดยการใช้กองทุนรวม ETF (Exchange Traded Fund) และหุ้นที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ โดยการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้จะสามารถลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ตัวไหนก็ได้ รวมถึงเงินทุนที่ใช้ลงทุนนั้นมีจำนวนน้อยกว่าการลงทุนโดยตรงและการลงทุนทางอ้อมยังมีสภาพคล่องที่มากกว่าอีกด้วย

3. ลงทุน Commodity ในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

การลงทุน Commodity หรือสินค้าโภคภัณฑ์ในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยมีข้อตกลงในการซื้อหรือขายสินค้าโภคภัณฑ์ในอนาคตที่มีการตกลงราคาไว้ล่วงหน้า โดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะมีวันหมดอายุและการส่งมอบที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าสามารถใช้เลเวอเรจได้ ส่วนมากเทรดเดอร์จะทำกำไรแค่ส่วนต่างราคาของการเปิดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพราะถ้ารอจนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหมดอายุ เทรดเดอร์สามารถสูญเสียเงินทุนได้ 

4. ลงทุน Commodity ใน CFD

การลงทุน Commodity หรือสินค้าโภคภัณฑ์ใน CFD (Contracts for Difference) โดยเป็นสัญญาระหว่างเทรดเดอร์และโบรกเกอร์ที่ทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ สามารถทำกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง มีการใช้เลเวอเรจ สัญญาไม่มีวันหมดอายุ รวมถึงไม่ต้องส่งมอบสินค้ากัน แต่เทรดเดอร์ควรทำการศึกษาการใช้ CFD ในการเทรดสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องจากมีการใช้เลเวอเรจ ซึ่งเป็นการวางเงินทุนที่น้อยและมีอำนาจในการเทรดที่สูง ถ้าการเทรดไม่เป็นไปตามแบบแผนเทรดเดอร์สามารถสูญเสียเงินทุนได้

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Commodity

Q : Commodity Market คืออะไร? 

Commodity Market หรือตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ คือ สถานที่หรือตลาดที่มีการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคาและจัดหาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับการผลิตและบริโภคในเศรษฐกิจโลก

Q : Commodity Composite Index คืออะไร?

Commodity Composite Index (ดัชนีรวมสินค้าโภคภัณฑ์) คือ ดัชนีที่วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภท ดัชนีนี้ประกอบด้วยสินค้าต่าง ๆ เช่น น้ำมัน ทองคำ เงิน แร่โลหะ อาหาร และวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรม ดัชนีนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ภาพรวมของการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาด

Q : กองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ คืออะไร?

กองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Mutual Funds) คือ กองทุนรวมที่มีการลงทุนในสินทรัพย์โภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ น้ำมัน ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นต้น โดยกองทุนเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ไม่ต้องการให้ผู้ลงทุนลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์โดยตรง แต่สามารถลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมได้เลย ซึ่งถือเป็นตัวเลือกในการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสการทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของสินค้าโภคภัณฑ์

Q : หุ้นโภคภัณฑ์ ใน SET50 มีอะไรบ้าง?

หุ้นโภคภัณฑ์ใน SET50 ตัวอย่างเช่น PTTEP บริษัท ปตท.ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), PTT บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ CPF บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

 

สรุป Commodity คืออะไร ? มือใหม่เริ่มต้นเทรดยังไงดี ?

Commodity หรือสินค้าโภคภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบที่ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของการผลิตสินค้าหรือบริการต่าง ๆ มีลักษณะจับต้องได้ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย สินค้าโภคภัณฑ์ยังสามารถซื้อขายและใช้แทนกันได้อย่างสมบูรณ์ สินค้าโภคภัณฑ์ยังแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ Soft Commodity และ Hard Commodity ซึ่งสินค้าโภคภัณฑ์นั้นมือใหม่สามารถลงทุนหรือเทรดได้ ไม่ว่าจะเป็นทางตรง ทางอ้อม สัญญาซื้อขายล่วงหน้า และ CFD (Contracts for Difference) แต่ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบ เช่น อุปสงค์และอุปทาน เงินเฟ้อ สภาพอากาศ และเหตุการณ์ทางการเมือง เทรดเดอร์มือใหม่ควรศึกษาหาข้อมูล เตรียมความรู้ รวมถึงวางแผนการเทรดสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อให้ประสิทธิภาพการเทรดสูงมากขึ้น

---------------------------------------------------------------------------

สามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมได้จากแหล่ง ดังต่อไปนี้ 

อัพเดตข่าวสารการลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์ : คลิกที่นี่

อ่านรีวิวโบรกเกอร์ยอดนิยมที่น่าใช้ : คลิกที่นี่

อ่านรีวิวโบรกเกอร์ที่ควรระวัง : คลิกที่นี่

อ่านบทความเพิ่มเติม : FXBROKERSCAM