List of content

ชักเย่อเศรษฐกิจโลก ร่วมใจเอาชัยโควิด-19


ชักเย่อเศรษฐกิจโลก ร่วมใจเอาชัยโควิด-19

ชักเย่อเศรษฐกิจโลก ร่วมใจเอาชัยโควิด-19

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่กำลังก่อตัวเป็นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกนั้น นับเป็นกรณีพิเศษที่แตกต่างจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแต่ละรอบในอดีต เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 1997 และ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008-2009 ซึ่งมีตัวจุดชนวนสำคัญ คือ ความร้อนแรงในภาคการเงินผ่านการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงทั้งในตลาดหลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์

ภายใต้ความเปราะบางของภาวะตลาดการเงินในขณะนั้น ผู้ได้รับผลกระทบหลักจึงเริ่มต้นจากนักธุรกิจการเงินที่อยู่ในภาคธุรกิจใหญ่และได้รับผลกระทบโดยตรง ก่อนที่จะลามมาสู่ภาคเศรษฐกิจจริงในวงกว้าง สำหรับวิกฤตการณ์โควิดในรอบนี้ เกิดจากการสะดุดตัวในภาคเศรษฐกิจจริงที่ต้องหยุดชะงักลง ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบหลักกลายเป็นผู้มีรายได้น้อยที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ขณะที่ ภาคการเงินเองยังมีเกราะกำบังจากความเข้มแข็งมาแต่เดิม จึงยังคงรับมือกับระยะเริ่มต้นของวิกฤตได้ ในวันนี้จึงขอเชิญทุกท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความไม่สอดคล้องระหว่างภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง


 "ภาวะการเงินโลกกำลังแกว่งไกวไปมาตามแรงส่งของความคาดหวังที่นักลงทุนมีต่อนโยบายเศรษฐกิจที่ชักเย่ออยู่กับแรงต้านของปัจจัยพื้นฐานในการแพร่ระบาด ดังนั้น ตลาดการเงินจึงคาดหวังข่าวดีจากผู้ดำเนินนโยบายมากกว่าการอธิบายสถานการณ์"

ขอเริ่มด้วยการหยิบยกถ้อยคำให้สัมภาษณ์ที่เผยแพร่ในวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมาของ คุณ Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจต้องใช้เวลาจนถึงสิ้นปีหน้าจึงจะฟื้นตัวได้เต็มที่ โดยปัจจัยชี้ขาดสำคัญ คือ ความเชื่อมั่นของภาคประชาชนในระหว่างที่รอการมาถึงของวัคซีน ซึ่งคุณ Mohamed El-Erian หัวหน้าที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มบริษัท Allianz วิพากษ์ว่าคุณ Powell พูดเรื่องเก่าที่ตลาดรับทราบอยู่แล้ว แท้จริงแล้วภาวะการเงินโลกกำลังแกว่งไกวไปมาตามแรงส่งของความคาดหวังที่นักลงทุนมีต่อนโยบายเศรษฐกิจที่ชักเย่ออยู่กับแรงต้านของปัจจัยพื้นฐานในการแพร่ระบาด ดังนั้น ตลาดการเงินจึงคาดหวังข่าวดีจากผู้ดำเนินนโยบายมากกว่าการอธิบายสถานการณ์

เมื่อพิจารณาตามความเห็นของคุณ Mohamed แล้ว จะพบว่าปัจจัยหลักที่ยังสนับสนุนภาวะการเงินโลก คือ ความเชื่อมั่นที่มีต่อนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งหากเรามองภาพความสัมพันธ์ระหว่างภาวะการเงินและเศรษฐกิจจริงผ่านการเทียบเคียงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ S&P 500 ของสหรัฐฯ เทียบเคียงกับตัวเลข GDP แล้ว จะพบว่าวิกฤตการณ์เศรษฐกิจส่วนใหญ่ในรอบเกือบสามสิบปีนี้ เกิดปัญหาในภาวะการเงินควบคู่ไปกับการถดถอยของภาคเศรษฐกิจจริง ต่างจากสถานการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจครั้งล่าสุดตั้งแต่ปีที่แล้วก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งเศรษฐกิจชะลอตัวลงแต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์กลับพุ่งทะยานสวนทางกับเศรษฐกิจจริง จนกระทั่งวิกฤตโควิดฉุดดัชนีตลาดหลักทรัพย์ให้ย่อตัวลง แต่ความเชื่อมั่นต่อนโยบายเศรษฐกิจยังสร้างแรงหนุนให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เด้งกลับสวนทางกับตัวเลข GDP ในไตรมาสแรกของปี

สำหรับในกรณีของประเทศไทยแล้ว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยดิ่งลงแรงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2019 แต่น่าสังเกตว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเดือนล่าสุดเกิดสภาพการณ์เด้งกลับ คล้ายคลึงกับดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ ไม่สอดคล้องกับตัวเลข GDP ไตรมาสแรกที่ประกาศในวันที่ 18 พ.ค. และการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์สำนักต่าง ๆ ว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปีจะหดตัวระหว่างร้อยละ 5-10 ซึ่งเมื่อมองย้อนไปแล้วจะพบว่า สถานการณ์ความไม่สอดคล้องระหว่างภาวะการเงินกับภาคเศรษฐกิจจริงของไทย เคยเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ที่เรียกว่า Stock Market Selloff ระหว่างปี 2015-2016 ซึ่งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทิ้งตัวแรงตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ภายใต้หลายปัจจัย ทั้ง การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน การร่วงลงของราคาน้ำมัน ปัญหาวิกฤตหนี้ประเทศกรีซ ผลกระทบหลังการยุติมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ จนมาถึง Brexit ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ GDP สหรัฐฯชะลอตัวควบคู่กับการย่อตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ และส่งผลมากระทบตลาดหลักทรัพย์ไทย สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์ของไทยและตลาดหลักทรัพย์ของโลก ดังนั้น การชักเย่อระหว่างภาคการเงินและเศรษฐกิจจริงคงกำลังเกิดขึ้นในไทยเช่นเดียวกับโลก
ชักเย่อเศรษฐกิจโลก
ชักเย่อเศรษฐกิจโลก

แน่นอนว่าการชักเย่อระหว่างภาคการเงินและเศรษฐกิจจริงเป็นเพียงการถ่วงเวลาเพื่อรอให้กรรมการสำคัญ คือ การค้นพบวัคซีน มาเป่านกหวีดยุติศึก ดังนั้น ในระหว่างที่ศึกชักเย่อยังดำเนินต่อไปนั้น จึงเป็นที่ถกเถียงกันว่าภาวะเศรษฐกิจต่อไปจะเป็นอย่างไร กรณีที่ดีที่สุดคือรูปตัว V เมื่อเศรษฐกิจฟื้นฟูกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว กรณีรูปตัว U เมื่อห้วงเวลาที่เศรษฐกิจซบเซายังอยู่นานก่อนฟื้นตัว หรือ กรณีเลวร้ายในรูปตัว L คือเศรษฐกิจฟุบยาวและไม่อาจพลิกตัวได้ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ในการชักเย่อแล้ว มีความเป็นไปได้มากว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นรูปตัว W คือ เศรษฐกิจมีความผันผวน มีการถดถอยและปรับดีขึ้นหลังการเปิดเมือง แต่ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน การกลับมาแพร่ระบาดของโควิดในบางประเทศจะยังเป็นปัจจัยถ่วงเศรษฐกิจโลก และเมื่อใดที่ความเชื่อมั่นต่อนโยบายเศรษฐกิจถูกบั่นทอนเศรษฐกิจก็อาจปรับลดลงไปอีก หรือ double-dip ก่อนกลับเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ หรือ New normal หลังวัคซีนถูกค้นพบ
บทสรุป

ความเชื่อมั่นต่อนโยบายเศรษฐกิจ เป็นเครื่องค้ำจุนสำคัญให้นักลงทุนยังเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ การดำเนินการนโยบายเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่มีประสิทธิผล ทำได้เร็ว ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงจึงมีความสำคัญยิ่ง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นสำคัญที่จะเป็นกำลังหลักในศึกชักเย่อนี้ คือ ประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งต้องร่วมหาหนทางรับมือทั้งการปรับตัวประคองธุรกิจในระยะสั้น และการปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะปกติใหม่หลังศึกโควิดยุติลง เพื่อให้การฟื้นตัวทั้งในภาคการเงินและเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเข้มแข็งและยกระดับศักยภาพการเติบโตของประเทศได้อย่างยั่งยืน