เงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าหนัก แตะระดับต่ำสุดครั้งใหม่ในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่ปี 1998 และยังมีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ค่าเงินเยนที่อ่อนลงจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับนักลงทุนแล้วจะส่งผลอย่างไร? วันนี้ผมจะพาทุกท่านไปติดตามสาเหตุ ผลกระทบ รวมถึงแนวทางการรับมือกันครับ
ส่วนหนึ่งมาจากแนวความคิดฝังหัวของคนรุ่นเก่าที่เคยเผชิญกับวิกฤติฟองสบู่ครั้งใหญ่ในช่วง 1990 มาก่อน ทำให้พวกเขามักจะ “ถือเงินสดมากกว่าลงทุน” นั่นเป็นเพราะความเจ็บปวดในอดีตทำให้ชาวญี่ปุ่นกลัวการลงทุนมาก โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง อีกทั้ง ญี่ปุ่นยังประสบกับภาวะเงินฝืดมากถึง 14 ปี ในช่วงดังกล่าว ทำให้ชาวญี่ปุ่นเกิดแรงจูงใจในการถือเงินสดมากกว่าที่จะนำเงินออกไปใช้จ่าย
ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ต้องออกมาดำเนินนโยบายการเงินด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ย โดย BOJ เลือกที่จะ “คงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ” สวนทางกับธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ รวมถึงสหรัฐฯ เพื่อทำให้นักลงทุนต่างชาติขายเงินเยนไปถือดอลลาร์แทน อีกทั้ง นิสัยประหยัดอดออมของชาวญี่ปุ่น ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ BOJ ต้องดำเนินนโยบายเช่นนี้ด้วย เพราะหากเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ก็จะยิ่งเป็นการชักจูงให้พวกเขาถือครองเงินสดเพิ่ม และลดการกู้ยืมลง ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง รัฐบาลเองก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นด้วย
การดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายของ BOJ ส่งผลให้เงินบางส่วนเริ่มไหลออกจากตลาดพันธบัตรของญี่ปุ่นไปสหรัฐฯ ที่ได้ผลตอบแทนดีกว่า ทำให้ “เงินเยนไหลออกจากพันธบัตรกลับเข้าสู่ระบบ” ค่าเงินเยนจึงอ่อนตัว โดยปัจจุบันส่วนต่างของ Bond Yield อายุ 10 ปี ของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ต่างกันถึง 2.55% ซึ่งหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ อาจทำให้ส่วนต่างกว้างมากยิ่งขึ้น
หลังจากที่พันธบัตรญี่ปุ่นถูกเทขาย ทำให้ Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกหนี้ (รัฐบาลญี่ปุ่น) ดังนั้น BOJ จึงต้องเข้ามารับซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ถูกเทขาย เพื่อกด Bond Yield ให้อยู่ในระดับต่ำ ด้วยการกระทำนี้จึงทำให้ “BOJ กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาล” ที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลมากเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมดแทน
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการแข่งขันทางการค้าค่อนสูง ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ จึงต้องเพิ่มการผลิตและ “ขยายการลงทุนไปยังประเทศต่าง ๆ” ที่มีอัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ เพื่อลดต้นทุนส่วนนี้ แต่การกระทำนี้กลับส่งผลเสียต่อค่าเงินเยน ทำให้ความต้องการถือเงินเยนลดลงตามไปด้วย
ข้อมูลการนำเข้าน้ำมันดิบปี 2021 จาก Statista
จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนด้านพลังงานทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และญี่ปุ่นเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ด้วย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการนำเข้าพลังงานมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าตลอดจน “ต้นทุนสินค้าและบริการต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น” ตามไปด้วย
ด้านการส่งออก ปกติแล้ว หากเงินอ่อนค่ามักจะส่งผลดีต่อการส่งออก เพราะกำไรที่ได้มาจะทำให้แลกเงินได้มากขึ้น แต่การอ่อนค่าของเงินเยนครั้งนี้ อาจไม่ใช่เรื่องดีสำหรับญี่ปุ่นนัก เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นมีการหดตัวลงจากการย้ายฐานผลิตไปยังประเทศอื่น
ด้านการนำเข้า นอกจากค่าเงินที่อ่อนลงจะทำให้ต้นทุนในการนำเข้าสูงขึ้นแล้ว ญี่ปุ่นยังได้รับผลกระทบจากการนำเข้าพลังงาน ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่สูงมากขึ้นด้วย ทำให้สินค้าและบริการจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคของประชาชนต่อไป
ด้านการท่องเที่ยว ค่าเงินที่อ่อนลงจะทำให้เป็นแรงจูงใจในการเดินทางไปเที่ยวยังประเทศนั้น ๆ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็สนับสนุนในจุดนี้ แต่อย่างไรก็ดี โลกของเราเพิ่งจะเผชิญกับปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ดังนั้น ธุรกิจการท่องเที่ยวจึงอาจจะไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังมากนัก อีกทั้ง นักท่องเที่ยวขาออกเองก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเช่นกัน